ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบคณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการบริษัทมีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท ต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งกรรมการแต่ละคนต้องปฎิบัติหน้าที่ของตนเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร และต้องรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริษัทร่วมกันและอย่างเท่าเทียมกัน โดยคณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้
- ด้านนโยบาย และการกำกับดูแล
- ปฎิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยคำนึงถึงผลประโยชน์บริษัทเป็นสำคัญ
- กำหนดและอนุมัติ วิสัยทัศน์ ทิศทางการดำเนินธุรกิจ กลยุทธ์ แผนการลงทุน แผนธุรกิจ รวมทั้งงบประมาณประจำปีของบริษัท/บริษัทย่อย
- กำกับดูแลการบริหารการจัดการและติดตามผลการดำเนินงานของบริษัท/บริษัทย่อย เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินกิจการเป็นไปตามเป้าหมายและแผนงานที่กำหนดไว้
- จัดให้มีนโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่เหมาะสมสำหรับบริษัท/บริษัทย่อย และเปิดเผยให้ผู้ถือหุ้นรับทราบในรายงานประจำปี
- จัดให้มีจรรยาบรรณและจริยธรรมทางธุรกิจ เพื่อเป็นมาตรฐานในการปฎิบัติงานของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท/บริษัทย่อย ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทควรติดตามให้มีการปฎิบัติตามจรรยาบรรณและจริยธรรมทางธุรกิจดังกล่าวอย่างจริงจัง
- พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเพื่อทำหน้าที่ ให้ข้อเสนอแนะและพิจารณาเรื่องต่างๆ พร้อมทั้งกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดย่อย
- พิจารณาแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) รวมถึงพิจารณาค่าตอบแทนของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)
- ในกรณีที่คณะกรรมการบริษัทมีการมอบอำนาจ/ยกเลิก เพิกถอน เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอำนาจ ให้ผู้บริหาร หรือพนักงานปฎิบัติการแทนต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบันทึกเป็นมติคณะกรรมการบริษัทในรายงาน การประชุมคณะกรรมการบริษัทอย่างชัดเจน
- ด้านบัญชีและการจัดทำรายงานทางการเงิน
- จัดให้มีการทำงบแสดงฐานะทางการเงินและงบกำไรขาดทุน ณ วันสิ้นสุดของรอบปีปฎิทินซึ่งเป็นรอบปีบัญชีของบริษัท เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี เพื่อพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทต้องจัดให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบงบแสดงฐานะทางการเงินและงบกำไรขาดทุนนั้นให้เสร็จก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น
- พิจารณาคัดเลือกให้ความเห็นชอบในการเสนอรายชื่อผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัท/บริษัทย่อย รวมทั้งพิจารณากำหนดค่าตอบแทน ที่เหมาะสมตามที่คณะกรรมการตรวจสอบนำเสนอก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในการประชุมสามัญประจำปีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
- ดำเนินการให้บริษัท/บริษัทย่อย นำนโยบายบัญชีที่เหมาะสมตามมาตรฐานการบัญชีมาใช้ในการจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงิน
- อนุมัติการทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินและหรือรายการเกี่ยวโยงกันของบริษัท เว้นแต่รายการดังกล่าวระบุไว้ว่าต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และในการพิจารณาอนุมัติดังกล่าวต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อบังคับ และระเบียบการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ตลาดหลักทรัพย์
- ดูแลบริษัทย่อยให้เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญในการจัดทำงบการเงินโดยข้อมูลต้องครบถ้วนถูกต้องภายในเวลาที่ บริษัทกำหนด
- ด้านการควบคุมการตรวจสอบภายใน และการบริหารความเสี่ยง
- จัดให้มีกรรมการตรวจสอบจำนวนอย่างน้อย 3 คน โดยคัดเลือกจากกรรมการบริษัทซึ่งเป็นกรรมการอิสระ จำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการบริษัททั้งหมดเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทให้เป็นกรรมการตรวจสอบ
- เป็นกรรมการอิสระที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และไม่เป็นกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของบริษัท บริษัทแม่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท และไม่เป็นกรรมการของบริษัทแม่ บริษัทย่อย หรือบริษัทย่อยลำดับเดียวกันเฉพาะที่เป็นบริษัทจดทะเบียน
- มีหน้าที่ในลักษณะเดียวกับที่กำหนดไว้ในประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยคุณสมบัติและขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ
- มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในฐานะกรรมการตรวจสอบ ทั้งนี้ ต้องมีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คน ที่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้
- จัดให้มีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาล ซึ่งประกอบด้วยกรรมการบริษัทอย่างน้อย 2 ท่านและผู้บริหาร โดยจำนวนคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาล รวมแล้วจะต้องไม่เกิน 5 ท่าน ซึ่งควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
- มีความรู้ ความชำนาญ และความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงของกิจการ
- สามารถอุทิศเวลาในการปฏิบัติหน้าที่และความคิดเห็นอย่างเพียงพอในการปฏิบัติงานในฐานะคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและธรรมาภิบาล
- จัดให้มีนโยบายด้านการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Policy) ให้ครอบคลุมทั้งบริษัท/บริษัทย่อย รวมทั้งจัดให้มีกระบวนการในการบริหารความเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัท/บริษัทย่อยอย่างเหมาะสม
- ติดตามและควบคุมบริษัท/บริษัทย่อย ให้เป็นไปตามนโยบายการควบคุมภายใน และการบริหารความเสี่ยง ที่บริษัทกำหนด รวมทั้งกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางธุรกิจ
- ทบทวนระบบหรือประเมินประสิทธิผลของระบบควบคุมภายในและการจัดการความเสี่ยงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ด้านการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์
- ห้ามมิให้กรรมการซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องใดออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมในเรื่องนั้น
- ห้ามมิให้กรรมการประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัท หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นกรรมการของบริษัทเอกชนหรือบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการอันมีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัท ไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น เว้นแต่จะได้แจ้งให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบก่อนมีมติแต่งตั้ง
- ห้ามมิให้บริษัทให้กู้ยืมเงิน ค้ำประกันการรับซื้อหรือซื้อลดตั๋วเงิน และให้หลักประกันเกี่ยวกับเงินที่กู้ยืมแก่กรรมการ ดังต่อไปนี้
- การให้กู้ยืมเงิน ค้ำประกันการรับซื้อหรือซื้อลดตั๋วเงิน และให้หลักประกันเกี่ยวกับเงินที่กู้ยืมแก่ คู่สมรสหรือบุตร ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของกรรมการ
- การให้กู้ยืมเงิน ค้ำประกันการรับซื้อหรือซื้อลดตั๋วเงิน และให้หลักประกันเกี่ยวกับเงินที่กู้ยืมแก่ ห้างหุ้นส่วนสามัญที่กรรมการ คู่สมรส หรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของกรรมการนั้นเป็นหุ้นส่วน
- การให้กู้ยืมเงิน ค้ำประกันการรับซื้อหรือซื้อลดตั๋วเงิน และให้หลักประกันเกี่ยวกับเงินที่กู้ยืมแก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่กรรมการ คู่สมรส หรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของกรรมการนั้น เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด
ง) การให้กู้ยืมเงิน ค้ำประกันการรับซื้อหรือซื้อลดตั๋วเงิน และให้หลักประกันเกี่ยวกับเงินที่กู้ยืมแก่บริษัทอื่นหรือบริษัทเอกชนที่กรรมการ คู่สมรส หรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของกรรมการนั้น ถือหุ้นรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทอื่นหรือบริษัทเอกชนนั้น
ทั้งนี้ เว้นแต่การให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกันการรับซื้อหรือซื้อลดตั๋วเงิน และการให้หลักประกันเกี่ยวกับเงินที่กู้ยืมนั้น เป็นไปตามระเบียบการสงเคราะห์พนักงานและลูกจ้าง
- ห้ามมิให้บริษัทจ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่กรรมการ เว้นแต่จ่ายเป็นค่าตอบแทนตามข้อบังคับบริษัท ในกรณีที่ข้อบังคับของบริษัทมิได้กำหนดไว้ การจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุม
- กรรมการคนใดซื้อทรัพย์สินของบริษัท หรือขายทรัพย์สินให้แก่บริษัท หรือกระทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งกับบริษัท ไม่ว่าจะกระทำในนามของตนหรือของบุคคลอื่น ต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการบริษัทก่อน ไม่เช่นนั้นการซื้อขายหรือกระทำธุรกิจนั้นไม่มีผลผูกพันบริษัท
- ให้กรรมการ/ผู้บริหาร ของบริษัท รายงานส่วนได้เสียของตนเองและของบุคคลที่เกี่ยวข้องให้บริษัททราบ เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้
ก) มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในสัญญาใดๆ ที่บริษัททำขึ้นระหว่างรอบปีบัญชี โดยระบุข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะของสัญญา ชื่อของคู่สัญญาและส่วนได้เสียของกรรมการในสัญญานั้น (ถ้ามี)
ข) ถือหุ้นหรือหุ้นกู้ในบริษัท โดยระบุจำนวนทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในระหว่างรอบปีบัญชี (ถ้ามี)
- ด้านการติดต่อสื่อสารกับผู้ถือหุ้น
- จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีภายใน 120 วัน นับแต่วันสิ้นสุดของรอบปีบัญชีของบริษัท การประชุมคราวอื่นนอกจากนี้ ให้เรียกว่าการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น
- จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่สำคัญต่อผู้ถือหุ้น ในงบการเงินและรายงานต่างๆ ที่จัดทำต่อผู้ถือหุ้น โดยข้อมูลเหล่านั้นควรให้เผยแพร่ผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์ก่อนและอาจเผยแพร่เพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์ของบริษัท
- ด้านอื่นๆ
- จัดให้มีคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน และเป็นผู้คัดเลือกประธานกรรมการบริหาร และประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
- แต่งตั้งเลขานุการบริษัทตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- จัดให้มีกฎบัตรของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย ตลอดจนให้ความเห็นชอบข้อเสนอของกรรมการชุดย่อยในการปรับเปลี่ยนเนื้อหาในกฎบัตร ให้มีความเป็นปัจจุบันและเหมาะสมกับระเบียบ ข้อบังคับ และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
- ปฎิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศ ข้อกำหนด พระราชบัญญัติ หรือกฎหมายอื่นใด ที่กำกับดูแลบริษัท